ติสท์อยากเขียน

TURBO the Diary ตอนที่ 1 : “สวัสดี dtac-T TURBO”!!

1 เดือนผ่านไปไวเหมือนโกหก… กับการเปิดตัวเครือข่ายน้องใหม่ล่าสุดจากผู้ให้บริการเบอร์สองของเมืองไทยกับ “dtac TURBO” เครือข่ายใหม่ที่กว้างที่สุดในไทย ครับ และเพื่อเป็นการสัมผัสประสบการณ์ใหม่อย่างเต็มที่… dtac เลยจัดเครื่อง Samsung Galaxy S9 พร้อมแพ็คเกจ Super Non-Stop 1999 บาทมาให้ผมใช้ระยะหนึ่ง… เพื่อทดลองว่าเครือข่ายน้องใหม่นี้ จะดีกว่าเดิมแค่ไหน และดีพอที่จะเรียกลูกค้า dtac ที่หายไปให้กลับมาได้หรือไม่ TURBO the Diary ครั้งนี้ จะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ละกันครับ

dtac TURBO คืออะไร อะไรคือ dtac TURBO

dtac TURBO เป็นชื่อของเครือข่ายใหม่ล่าสุดจาก dtac ซึ่งทำงานอยู่บนคลื่น 2300 MHz จาก TOT มีความกว้างที่สุดถึง 60 MHz และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยการรองรับจำนวนผู้ใช้งานของ dtac กว่า 22 ล้านรายได้ทั้งหมด เทคโนโลยีที่ dtac นำมาใช้คือ TDD-LTE ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะปรับช่วงคลื่นความถี่ตามช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

เดิมทีเราใช้ 4G กันในรูปแบบ FDD-LTE ซึ่งรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีการจับคู่คลื่นความถี่ให้เป็นช่วงเดียวกัน และใช้ทั้งสองช่วงในการรับส่งข้อมูล เทคโนโลยีนี้มีข้อจำกัดคือต้องจัดสรรช่วงคลื่นทั้ง Download และ Upload ให้เท่ากัน จึงทำให้คลื่นอีกช่วงไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สำหรับ TDD-LTE จะใช้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นสัดส่วน และปรับได้หากต้องการ ตัวอย่างเช่น เรามีคลื่น 20 MHz เราสามารถจัดสรรคลื่นก้อนเดียวกันให้ใช้งานทั้งขา Download และ Upload ได้ และในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานเยอะ จะสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเช่น ยามปกติอาจจะใช้ Download/Upload เท่ากันที่ 10 แต่ช่วงที่มีคนใช้เยอะ อาจจะสั่งให้จัดสรร Downlink 15 และ Uplink 5 ก็ได้

สิ่งที่ต่างออกไปคือ dtac TURBO ไม่ได้ใช้คลื่นทีเดียว 60 MHz เป็นเครือข่ายใหญ่ แต่ใช้เทคนิคการตัดคลื่นออกเป็นสามเครือข่าย เครื่อข่ายละ 20 MHz แล้วใช้เทคนิคการผูกคลื่นทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ความเร็วและประสิทธิภาพออกมาดีที่สุด และยังมีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในรูปแบบ Massive MIMO 64T/64R ให้สัญญาณส่งออกมาได้แรงขึ้น และดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งใช้เทคโนโลยี 256QAM เร่งความเร็วในการดาวน์โหลดให้สูงขึ้นไปอีก ทำให้ dtac TURBO กลายเป็นเครือข่ายที่ทั้งใหญ่ แรง และเร็วทัดเทียบกับเครือข่ายอื่น ๆ อย่างสมนำสมเนื้อ

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจับ dtac TURBO อยู่

หลักการเดียวกันกับ AIS-T เลยครับ นั่นคือหากมือถือไปจับคลื่นของ TOT ที่หน้าจอจะเขียนว่า “dtac-T” เพื่อแสดงว่ากำลังจับคลื่น 2300 MHz อยู่ คลื่นก้อนนี้มีรหัสเครือข่ายคือ 520 47 ซึ่งเป็นรหัสของ TOT และที่หน้าจอจะขึ้นว่า 4G+ หากจับคลื่นได้มากกว่า 1 เครือข่าย

พอรู้จัก dtac TURBO กันคร่าว ๆ แล้ว เราลองมาดูดีกว่าว่าตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาใช้งานจริงเป็นอย่างไร

2 อาทิตย์แรก "..."

“…….”

ครับ ผมต้องเขียนแบบนี้จริงๆ แต่ไม่ใช่เพราะอะไรครับ คือช่วงสองอาทิตย์แรกหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สัญญาณ dtac-T นี่เรียกว่า อื้อหือกันเลยทีเดียว หายากมาก หาเจอก็สัญญาณอ่อนมากในระดับที่ใช้งานไม่ได้ ถ้าไม่อยู่บนถนนตรงบริเวณที่มีสัญญาณ ก็ไม่ได้ใช้เลยล่ะครับ

ปกติผมใช้ BTS ไปทำงาน ไปแล็บอยู่ตลอด การอยู่บน BTS ทำให้สัญญาณมาไม่ถึงอยู่แล้วเพราะ BTS วิ่งเร็วมาก การจะได้ใช้งานนั้น คงต้องรอทาง dtac มาตั้งเสาสัญญาณบน BTS กันอย่างเดียว แต่ในยามที่ผมเดินอยู่หรือนั่งรถตามถนน.. สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจับสัญญาณ dtac TURBO ทำได้ยากถึงยากมาก เนื่องจากจำนวนเสาสัญญาณยังมีน้อย และสัญญาณยังปล่อยมาไม่แรงพอ ถ้าจับได้ ก็จะโดนเตะกลับไป 1800/2100 อยู่ตลอด เนื่องจากสัญญาณอ่อนเกินจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่งทาง dtac เองก็ชี้แจงว่า การสั่งอุปกรณ์เข้ามานั้น ทำได้ยากมาก ที่ใช้กันอยู่ในช่วงแรก คืออุปกรณ์ทดลองสัญญาณจาก Ericsson และ Huawei ที่นำมาทำงานกับ TOT ระยะหนึ่ง พอเมื่อขั้นตอนการทดลองสัญญาณเสร็จสิ้น และมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ (เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561) dtac ก็เลยนำอุปกรณ์ชุดนั้นมาใช้งานจริง พร้อมทั้งนำสัญญาฉบับนี้ไปขออนุญาต กสทช. เพื่อนำเข้าอุปกรณ์เครือข่ายมาติดตั้งและดำเนินการต่อไป

สองอาทิตย์นี้จึงเป็นสองอาทิตย์ที่เราจะได้เห็นการพัฒนาการของเครือข่ายว่า dtac ทำเครือข่ายได้เร็วขนาดไหน…

อาทิตย์ที่สาม "มาแล้วววววว!!!"

เข้าสู่อาทิตย์ที่สาม dtac ติดตั้งเครือข่ายเร็วมาก โดยย่านสยามสแควร์และแถบกลางเมืองจะมีสัญญาณที่ค่อนข้างแน่น และตรงตามแผนการขยายเครือข่าย แถมยังใช้งานได้จริงเสียด้วย ผมเลยได้ทดลองใช้งานจริงทั้งการดู YouTube / Line TV ดูหนัง ดูซีรีส์ ดูโทรทัศน์ผ่าน AIS Play ดูบอลโลกผ่าน True ID เล่นเกม ฟังเพลง ทำโน่นนี่นั่นเหมือนกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่เกิดขึ้นเลยก็คือ dtac TURBO ตอบสนองได้ดีมาก ไม่มีอาการเน็ตค้างเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป ไหลลื่น แรง และเร็วพอที่จะใช้งานทั่ว ๆ ไปได้ตามปกติแล้ว ผมเลยลองเล่น Lineage 2: Revolution ก็ไม่พบอาการแลคให้เห็น แถมค่า Ping (ความเร็วในการรับส่งข้อมูลระหว่างเครื่องกับเซิร์ฟเวอร์ มีหน่วยเป็น ms) ก็ยังน้อยมากจนน่าตกใจ ว่า “เอ้ย นี่คือ dtac ที่ผมรู้จักหรือ?” 

แต่เบื้องหลังจริงๆ ก็คือทาง dtac ตัดสินใจปิดความสามารถการผูกคลื่น dtac-T ลงชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหากับเจ้า Samsung Galaxy S9 และ S9+ ที่ไม่สามารถผูกคลื่นได้ ซึ่งปัญหานี้ทาง dtac ได้แจ้งไปยัง Samsung และได้รับผลมาว่าจะดำเนินการแก้ไขและส่ง Firmware Update มาให้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม (ณ วันที่เขียนข่าว Samsung แก้ให้แล้วใน Firmware ตัวล่าสุดที่ปล่อยออกมา) ทำให้ในระหว่างนี้ dtac ตัดสินใจปิดฟังก์ชันลงเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ

แต่มาได้แค่ไม่กี่วัน …….. หลังจากนั้น …..

อาทิตย์ที่สี่ "เรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ดั๊นเป็นเรื่อง"

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 24 มิถุนายน…

เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์แฮชแท็กหนึ่งดังสนั่นโซเชียล

และเหตุการณ์นั้นคือ…

“BTS พัง”

ย้อนความกันเล็กน้อย คือ BTS เจอปัญหาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน โดยระบุสาเหตุคร่าว ๆ ว่าโดนสัญญาณจากอาคารรอบข้างรบกวน แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่ง BTS เองก็โยนแพะมาทาง TOT และ dtac ซึ่งอันที่จริงเหตุการณ์นี้ dtac TURBO ก็มีส่วนเกี่ยวข้องเหมือนกัน เรื่องนี้เลยนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนครั้งใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสององค์กรนี้ โดยมีตัวกลางคือ “กสทช.”

จากการสืบสวน ทำให้วิเคราะห์สาเหตุได้คร่าว ๆ ว่า เกิดจาก Wi-Fi กวนกันเอง กับ เกิดจาก 2300 ช่วงปลาย (dtac ใช้ 2310-2370 MHz) มารบกวนการทำงานของระบบอาณัติสัญญาณที่ทำงานอยู่บน 2400 MHz ถ้ามองกันตามเนื้อผ้า ต่อให้ dtac ใช้ 2370 มันก็ยังมี Guardband ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือของ TOT และส่วนในความครอบครองของ ม.เกษตร อีก 30 MHz จึงไม่น่าไปรบกวนกันได้ แต่เมื่อฝั่ง BTS หลุดมาว่า “รถไฟฟ้าวิ่งไปจับ 2370” จึงมีการ “เอ๊ะ” กันเกิดขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วหรือจะเป็นฝั่ง BTS เอง ที่แอบลักไก่ใช้ 2300 MHz มาก่อนเพราะเห็นเป็นคลื่นว่าง

และเรื่องนี้เองจึงเป็นวิวาทะหนักระหว่าง dtac กับ BTS ที่ออกแถลงโต้กันไปมาอยู่สองวัน จนได้ข้อสรุปว่า dtac จะเป็นฝ่ายปิดสัญญาณ dtac TURBO ชั่วคราวในช่วงเช้าและเย็น และฝั่ง TOT เอง ก็สาวเรื่องจนได้ต้นตอว่า BTS แอบมาใช้ 2300 จริง จนกระทั่งฝั่ง กสทช. ตัดสินใจลงมติให้ dtac และ TOT ยุติการทดลองเครือข่ายชั่วคราวจนกว่า BTS แก้ไขและย้ายคลื่นความถี่เสร็จ

และ dtac … จ่ายเงินแท้ ๆ แต่ต้องหลบให้เค้า (คนที่แอบใช้คลื่น) ก่อนอยู่ดี

แล้วเหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างไร… ก็นั่นแหละครับ การสั่งปิด dtac TURBO ทำให้สัญญาณตามแนว BTS หายหมด ก็เลยต้องกลับมาอยู่กับ 1800/2100 ชั่วคราว..

ส่งท้ายเดือนแรก

นี่ก็เป็นหนึ่งเดือนที่ผ่านมาระหว่างผมกับ dtac TURBO แต่มันยังไม่จบแค่นั้นแน่นอนครับ เพราะเครื่องที่ได้มา dtac ให้ลองกันประมาณ 6 เดือน เพื่อให้เห็นพัฒนาการของเครือข่ายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเราจะรอดูพัฒนาการของ dtac TURBO กันต่อไป เอาเป็นว่า คอยให้กำลังใจกับ dtac กันดีกว่าว่า dtac TURBO จะดีจริงหรือไม่อย่างไร แล้วพบกันใหม่ ตอนหน้า เดือนหน้าครับ 🙂

ระหว่างนี้หวังว่า dtac จะเร่งขยายเครือข่ายให้ทั่วกรุงเทพฯ โดยเร็ว โดยเฉพาะตามอาคาร และสถานที่ต่าง ๆ ที่สัญญาณยังเข้าไม่ถึง หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนป้ายโฆษณาตามห้างกลางเมือง จาก… “คลื่นใหม่กำลังมา” เป็น “คลื่นใหม่มาแล้ว” ในเร็ววันนี้ หวังว่าเดือนหน้าจะได้เห็นหน้ากันบ่อยขึ้นนะครับ ฮาาา

สำหรับคนที่อยากทดลองใช้งาน สามารถตรวจสอบความพร้อมของตัวเองได้โดยการกด *2300# จากมือถือ dtac ของคุณได้เลย หากพร้อมก็หาพื้นที่ที่มีสัญญาณกันเล็กน้อย แล้วก็ใช้งานได้เลยครับ

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)