สืบเนื่องจากความขัดแย้งในการใช้งานสิทธิบัตรเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนระหว่าง Apple และ Qualcomm ได้กลายเป็นข้อพิพาทที่ทั้งสองบริษัทยื่นฟ้องร้องกันไปมากว่า 100 คดีทั่วโลก ซึ่งหลังจากลงนวมซ้อมและสาดใส่สงครามจิตวิทยามาร่วมปี การต่อสู้ในยกแรกที่ศาลประเทศจีน ได้คำตัดสินในเบื้องต้นออกมาว่า Qualcomm เป็นฝ่ายเปิดแผลแรกทำคะแนนออกนำไปก่อน และกลายเป็นทาง Apple ที่ออกท่าทางเสียอาการอยู่ไม่น้อย
โดยทาง Qualcomm ได้รับชัยชนะจากการฟ้องร้องในคดีความที่กล่าวอ้างว่า Apple กระทำการละเมิดสิทธิบัตร ในการปรับขนาด ปรับฟอร์แมตของรูปภาพสำหรับการตั้งค่าวอลเปเปอร์ตัวเครื่อง และการสลับใช้งานระหว่างแอปพลิเคชั่น เป็นจำนวนสองฉบับ ทำให้สามารถสั่งแบนการขาย iPhone บางรุ่นได้ในเบื้องต้น แต่ Apple ตอบโต้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะเครื่องในระบบปฏิบัติการ iOS 11 ซึ่งไม่ได้วางจำหน่ายแล้ว โดยเปิดตัวซอฟท์แวร์รุ่นย่อย iOS 12.1.2 อออกมาล่าสุดเพื่อการอัพเดตแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กระนั้นเองทาง Donald Rosenberg ที่ปรึกษาสูงสุดแห่ง Qualcomm ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดเปิดเผยผ่านสำนักข่าว Reuters โดยเดินหน้าขยี้ใส่แบบสุดทาง ระบุว่า Apple กระทำการโดยไม่สนใจระบบกฏหมาย เป็นการละเมิดคำสั่งศาลที่สั่งจำกัดการวางจำหน่าย iPhone ที่อยู่ในขอบข่ายการละเมิดสิทธิบัตรในประเทศจีน คำกล่าวอ้างหลายๆ อย่างของ Apple เป็นความพยายามที่ลดความสำคัญในคำสั่งเหล่านั้น พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะแก้ไขการละเมิดสิทธิบัตรได้ผ่านการอัพเดตซอฟท์แวร์ ซึ่งเป็นข้อแถลงที่ไม่มีความชัดเจนและต้องการสร้างการชี้นำไปแบบผิดๆ
ทั้งนี้ฝั่งของ Apple ไม่ได้ตอบโต้อะไรมากไปกว่า การยืนยันว่าบริษัทปฏิบัติตามข้อกฏหมาย และจะไม่หยุดการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศจีน โดยถ้าหากในท้ายที่สุดคำตัดสินยืนตามคำสั่งชั้นต้นแล้ว Apple อาจจะต้องสูญเสียเงินในหลักหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อทางรัฐบาลจีนและผู้บริโภค โดยระบบซัพพลายเชนในการผลิต iPhone ตั้งแต่ชิ้นส่วนไปจนถึงการพัฒนาซอฟท์แวร์ ได้สร้างการจ้างงานในจีนกว่า 5 ล้านตำแหน่งงาน และรวมไปถึงผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีนับล้านที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ ที่จะเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้