เวลาให้คิดถึงสิ่งที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยุคนี้ ชอบนำมาเป็นจุดขายมากที่สุด เรามักนึกถึงเรื่อง “กล้องถ่ายรูป” ที่ดูเป็นการแข่งขันที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราวที่สุด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่า เป็นอีกการแข่งขันนึงที่จริงจังมาก คือเรื่อง “หูฟัง” ตั้งแต่โลกได้เห็นผลลัพธ์การทำ AirPods ของ Apple ที่ตอนแรกดูเหมือนแค่ หูฟังไร้สายที่ต่อ iPhone ได้ง่าย แต่มาถึงวันนี้ คงปฎิเสธไม่ได้แล้วว่า การสร้างอุปกรณ์เสริมด้านเสียง จะหูฟัง ลำโพง ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกับมือถือหรือแท็บเล็ตในแบรนด์ ให้ออกมาเชื่อมต่อง่าย น่าใช้งาน คือการดึงให้แบรนด์มีคุณค่าที่น่าเป็นสาวก ซื้อแล้ว ซื้อให้ครบชุด เพราะใช้ของคนละยี่ห้อ มันจะยุ่งยาก
เหมือนได้ทางสว่าง แบรนด์ไหนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็จับมือถือ หูฟัง ลำโพง ฯลฯ รวมร่างให้กลายเป็นระบบครบวงจร แบรนด์ไหนทำแต่สินค้าไอที ก็มาจับ IoT ที่กำลังแปลงของที่เราอยู่ด้วยทุกวันให้ฉลาดขึ้น ทำได้มากขึ้น มองมาที่ Huawei คงไม่มีใครคิดถึงหูฟังจากเจ้านี้ ถึงจะไม่มีชื่อ แต่เท่าที่ทำมาถึงตอนนี้ ก็พอสัมผัสได้ว่า กำลังมาถูกทางแล้ว เพราะถ้านับตั้งแต่ FreeBuds 3 หูฟัง True Wireless ทรงตลับที่เปิดตลาดว่า Huawei ก็ลงมาทำตลาดหูฟังไร้สายแบบเต็มตัว สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ Huawei สร้างฐานที่ใช้ชื่อว่า 1+N+8 ที่ยืนพื้นหลักด้วย Smartphone ห้อมล้อมด้วยอุปกรณ์ที่เหมือน “เพื่อน” กับมือถือ ไม่ว่าจะ PC / Tablet / หูฟัง / ลำโพง / แว่นตา / นาฬิกา เพื่อให้คู่นี้ เข้าไปถึงบริการ หรืออำนวยความสะดวกสิ่งเดิม ๆ ให้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะการทำงาน ความบันเทิง สุขภาพ หรือบริการอื่น ๆ ที่สามารถเอามือถือกับอุปกรณ์เสริม มาต่อยอดกันในอนาคตได้เช่นกัน

กลับมาที่ความจริงชีวิต หูฟังไม่ว่าจะสาย หรือไร้สายทรงอะไรก็ตาม บารมีเก่า คือจุดช่วยให้ขายของง่ายขึ้น 50% แต่ถ้าไม่มีบารมีเก่า ก็ต้องมีสิ่งจุดขายอื่นที่น่าสนใจจนมีลูกค้าลองเปิดใจ โชคดีที่ลูกค้ารุ่นใหม่ ลูกค้าที่ชอบเล่น Gadget จริงจัง มักจะเอาบารมีเก่าของแบรนด์มาใช้ในการตัดสินใจ น้อยกว่าการไปลองเอง นั่นทำให้หูฟังไร้สายจาก Huawei พอจะแจ้งเกิดได้บ้าง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา การเปิดตัว Freebuds Pro / Freelace Pro / Freebuds Studio / Gentelmonster X Huawei (รุ่น 2) คือการบอกตลาดว่า Huawei บุกตลาดด้านเสียงนี้เต็มตัว เติมเต็มระบบนิเวศตามทิศทาง 1+N+8 ได้ครบถ้วน
ตัวแรกในตระกูลบุกตลาดเต็มตัวที่จะมาเล่ากัน คือ Freelace Pro สีเขียวที่มองแว็บแรก เป็นพาสเทลอ่อน ๆ ที่ดูแปลกตา แถมจิตใต้สำนึกผมก็ดันบอกว่า “ไม่อะ รวมถึงไม่น่าจะโอเคด้วย” แต่หลังจากแกะมาใช้แล้ว ก็เข้าทำนอง…ยังไม่ดัง แต่ฟังดี มันฟังดียังไง เลื่อนลงมาอ่านได้เลยครับ
ส่องรอบตัว

ท่ามกลางหูฟัง True Wireless ที่ครองใจผู้ใช้ไปหมด Huawei Freelace Pro เป็นหูฟังทรงสายคล้องคอ ที่ครั้งหนึ่งในอดีต เคยเป็นทรงยอดนิยมในตลาด แต่ทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มผู้ใช้งานที่ชอบทรงหูฟังแนวนี้อยู่พอสมควร สำหรับในชุดจำหน่ายนั้น มีหูฟังหนึ่งเส้น / คู่มือ / จุกยางหูฟัง+ยางดันใบหูด้านใน และสาย USB-C แปลงเป็น USB-A เพื่อชาร์จไฟหูฟังกับที่ชาร์จอื่น
หูฟังเป็นเส้นเดียวกันทั้งชุดซ้ายจรดขวา ใช้การทำสายแบบเส้นแบน ปุ่มควบคุมเสียง การเล่นเพลง / ปุ่มเปิด ปิด / ไมค์ฯ อยู่ฝั่งขวา เมื่อใช้สองมือจับระหว่างรีโมทกับหูฟัง แล้วดึงแยกออกจากกัน จะเจอ USB-C สำหรับเชื่อมต่อ+ชาร์จไฟ ฝั่งซ้ายเป็นก้อนแบตเตอรี่ พร้อมสกรีนตรา Huawei

หูฟังทั้งสองข้าง เป็นหน้าสัมผัสที่รองรับการแตะค้าง โดยค่ามาตราฐานตั้งให้หูซ้ายใช้ควบคุมเสียงรบกวน ส่วนหูขวาใช้เปิดคำสั่งเสียงที่ Smartphone นั้น ๆ รองรับ
งานประกอบ วัสดุ ทำมาได้น่าประทับใจ หูฟังหลายตัวที่ราคาสูงหรือสวยกว่านี้ มักทำผิวสัมผัสที่ทำให้ราคาของหูฟังดูด้อยลง หรือผิวสัมผัสที่สกปรกได้ง่าย ไม่ก็ดูเก่าเมื่อใช้ไปนาน ๆ แต่กับ Freelac Pro วนที่ต้องสัมผัสกับคอ มีความสากนิด นุ่มมากกว่า ทำให้ไม่ระคายผิวหนัง แต่ก็ไม่ลื่นเวลาคล้องจนเกินไป ส่วนจุกยางหูฟัง ตอนใหม่ ๆ จะรู้สึกว่าใส่ไม่สุดหูดี แต่พอผ่านการใช้งานไปสักพัก ความนุ่ม ลื่น ทำให้ใส่ได้ง่ายขึ้น กระชับขึ้นไปเอง ถ้าไล่จับทั้งตัวปุ่ม รอยต่อ การปั้มต่าง ๆ แล้วไม่บอกว่าราคาไม่ถึงสามพันบาท ถือว่าทำได้น่าประทับใจอยู่ ฉะนั้น ถ้ารักษาความสะอาดดี ๆ Freelac Pro จะคงสภาพที่ดูดีไปได้อีกนานได้ไม่ยากเช่นกัน

เพื่อการใช้งาน Huawei FreeLace Pro ที่สมบูรณ์แบบ แนะนำให้โหลด App “Huawei AI Life” มาจัดการ โดยในล่าสุดของ Android (มีนาคม 2021) ที่โหลดจาก Play Store สามารถใช้งานได้ครบทุกความสามารถ ส่วน iOS ที่โหลดจาก App Store ไม่รองรับกับ FreeLace Pro นั่นแปลว่าถ้าใช้ร่วมกับ iOS จะเป็นการเชื่อมต่อแบบหูฟังไร้สายทั่วไป และทำงานแค่ความสามารถพื้นฐานเท่านั้น ฉะนั้นในการลองแล้วเล่าครั้งนี้ จะนำเสนอด้วย Android เพื่อให้เห็นความสามารถของหูฟังครบถ้วนที่สุด

การเชื่อมต่อทำได้ง่าย ถ้าเป็น Smarrtphone ของ Huawei จะแค่ถอดสายหูฟังฝั่งขวา แล้วเอา USB-C จิ้มเพื่อเชื่อมต่อเลยก็ได้ เมื่อเชื่อมต่อเสร็จ เพียงกดปุ่มเปิด/ปิด เพียงสองครั้งต่อเนื่อง จะเป็นการสลับหูฟังจากมือถือไป Tablet ได้ทัน แต่ถ้าเป็น Android อื่น ให้กดเปิดหูฟัง 4 วินาทีเหมือนเดิม แต่ไปเชื่อมต่อผ่าน Huawei AI Life เมื่อเชื่อมต่อสำเร็จ เราสามารถจัดการหูฟังในความสามารถต่าง ๆ ไปจนถึงการดูสถานะแบตเตอรี่ การเชื่อมต่อ รวมถึงอัพเดทเฟิร์มแวร์ตัวหูฟังได้ทันที…ไปที่การใช้งานกันเลยครับ
ใช้งานจริงแล้ว?

ที่จริง หูฟังทรงคล้องคอ มีรีโมทที่คอ และมีสายหูฟังต่ออีกที ไม่ใช้ก็เอามาล็อคกันเหมือนสร้อยคอ เป็นหูฟังไร้สายทรงที่มีกลุ่มคนใช้เล็ก ๆ แต่เหนียวแน่นอย่างคาดไม่ถึง มันให้ความสะดวกทั้งตอนหยิบและเก็บในแบบที่เข้ากับวิถีการใช้ชีวิตหลาย ๆ คน ถ้าจะให้กลุ่มคนใช้หูฟังแนวนี้ชอบ หูฟังตอนไม่สร้างภาระในการพกพา รวมถึงคล่องตัวในการเคลื่อนไหว ประเด็นแรกที่ผมสนใจคือ Huawei Freelace Pro พกแล้วเกะกะไหม เพราะหูฟังไร้สายทรงนี้ ผมไม่มีตัวไหนที่ชอบเป็นพิเศษ มีแค่ เกือบชอบ แต่ไม่ชอบ สำหรับ Freelace Pro ถ้าเอาเรื่องกายภาพล้วน ๆ ตัวสายคล้องหลังทรงสายแบน รีโมทฝั่งขวาและก้อนแบตเตอรี่ที่ฝั่งซ้าย ทรงออกมาสมมาตร คล้องคอ แล้วจัดให้อยู่กลาง สามารถเดินไปมา หันไปหันมา ก้มหน้าลง แล้วไม่เกิดอาการหูฟังไหลจากน้ำหนักที่รีโมท หรือก้อนแบตเตอรี่จัดวางไม่สมดุล หรือถ้าใช้วิ่ง ก็พอดึงกลับให้มาสมดุล หากระหว่างวิ่งไหลไปกองข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมา มีเพียงแค่ตอนนอน ที่หูฟังแนวคล้องคอ จะใส่ไม่สะดวก ซึ่งเป็นข้อจำกัดของหูฟังไร้สายทรงคล้องคอ รวมถึงเมื่อไม่ใช้งาน แม่เหล็กที่หูฟังดูดติดกันได้แม่นยำ แกะออกง่าย ไม่ดูดแน่นไป แต่ก็ไม่ดูดเบาจนสะบัดแล้วเผลอหลุด ฉะนั้นแล้ว วัดกันด้วยกายภาพ ทำมาได้ดีที่สุดตัวหนึ่งในตลาด เมื่อเทียบกับหูฟังทรงคล้องคอที่ผมเคยได้ลองมา

หูฟังเป็นทรง In-Ear จุกยางมีขนาดให้เลือกปรับได้ และมีดันทรงใบหูด้านในเพื่อเพิ่มความกระชับ ซึ่งเท่าที่ได้ไซส์ของจุกหูฟัง+ดันทรงหูฟัง ถือว่าใส่สบายมากที่สุดอีกรุ่น ทำได้ดีจนน่าประทับใจการใส่นานกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไปกับการดูภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง หรือฟังเพลง 1-2 ชั่วโมง ขณะออกกำลังกายด้วยการยกเวทฯ หรือจะกึ่งเดินกึ่งวิ่งขณะใช้คุยโทรศัพท์ในวันเร่งรีบเช่นกัน เอาเป็นว่า จุกหูฟังกับดันทรงหู ทำมาพอดีกับหูคนส่วนใหญ่ในโลก และสบายแบบไม่รู้สึกว่ามีความต่างของอากาศมาอัดหูจนเกินไป
แต่ใส่ดี เคลื่อนไหวดียังไง แต่มีเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่น่ามองข้ามเรื่องหนึ่งคือ…Freelace Pro ไม่แถมซองให้ในกล่องเลย ดูเหมือนของเล็กน้อย แต่ซองที่ว่านี้จำเป็นมาก การคล้องหูฟังในบางสถาณการณ์ ก็ดูไม่เหมาะสมในเชิงมารยาททางสังคม หรือถ้าเดินทางกลับบ้านตอนกลางคืน บ้านต้องเดินผ่านที่มืด เปลี่ยว การคล้องหูฟังแบบนี้ ก็เรียกโจรให้ปล้นทางอ้อมได้ ถ้าจะเก็บ Freelace Pro ด้วยการพยายาพันให้เรียบร้อย แล้วใส่ในกระเป๋า หรือช่องในกระเป๋า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะคลายตัว แล้วกลายเป็นความไม่เป็นระเบียบ แถมทำให้หูฟังเสียหายง่ายขึ้นด้วย ฉะนั้นแล้ว หาถุงใส่ให้เค้า และรบกวนทาง Huawei แถมมาในกล่องเป็นอุปกรณ์มาตราฐานเถอะครับ มันจำเป็นที่ควรจะมีไว้เก็บให้ดี ๆ เมื่อไม่ใช้งานจริง ๆ

ประเด็นถัดมา หูฟังแนวคล้องคอส่วนใหญ่ มักมีรีโมทที่ข้างใดข้างหนึ่ง หรืออยู่ทั้งสองข้าง สำหรับ Freelace Pro ถ้ามองด้วยตา รีโมทอยู่ขาวมือ เหมือนจะไม่สะดวกในบางสถาณการณ์ แต่ภาพรวมก็ใช้งานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคนถนัดขวาหรือซ้ายก็ตาม ปุ่มเปิด/ปิด เมื่อเอาหูฟังคล้องคอ อยู่ในตำแหน่งที่ จะคว้าด้วยมือข้างไหน สามารถกดเปิด/ปิด ด้วยท่าที่ไม่ฝืนกายภาพ กดได้เพียงแค่คลำดี ๆ แต่จุดที่ขัดใจมีอยู่นิดเดียว คือปุ่มบนรีโมทที่ใช้ควบคุมทั้งหมด จัดวางดีแล้ว คลำปุ่มง่าย รู้ว่าปุ่มไหนคืออะไรได้ เมื่อใช้งานไปสักพัก แต่ติดแค่ความสูงของปุ่ม ถ้าทำให้สูงกว่านี้อีกนิดเดียว จะคว้าไปกดได้ง่ายและทันใจกว่านี้ เพราะเท่าที่อยู่ด้วยในชีวิตประจำวัน ต้องผ่านการคลำก่อนว่า ปุ่มไหนคือปุ่มอะไร แล้วค่อยกด ต่างกับหูฟังทรงนี้ในยี่ห้ออื่น ที่ถึงรีโมทหน้าตาอาจไม่สวย ใส่ไม่ดี แต่ปุ่มควบคุมใช้ง่ายกว่าแบบ คว้าไปกดผ่านสัญชาติญาณร่างกายได้ทันที ซึ่ง Freelace Pro ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ ใช้เวลาหลักเดือนก็แล้ว ผมยังคว้าไปกดผิดกดถูกอยู่ดี หากปุ่มควบคุมเสียง การเล่นเพลง มีความนูนที่ชัดกว่านี้จากการเพิ่มความสูงปุ่มเล็กน้อย จะลงตัวเลยทีเดียว

ความสามารถยอดนิยมของหูฟังไร้สายยุคนี้ คือระบบตัดเสียงรบกวน / การเปิดเสียงรอบข้างให้รู้ว่า แต่ไม่ลดอรรถรสการฟังเพลงลง ซึ่ง Freelace Pro ก็มีให้ใช้ เพราะตัวหูฟังเป็นแบบ In-Ear การควบคุมง่ายมาก เพียงแค่เอานิ้วแตะที่หูแป้นแบน ๆ ที่หูฟังซ้ายสักครู่ หูฟังจะมีเสียงบอกว่า “โหมดตัดเสียงทำงาน” แตะอีกครั้งจะเป็น “โหมดเปิดเสียงรอบข้าง” และแตะอีกครั้งคือการ “ปิดการทำงานโหมดตัดเสียง” ซึ่งแตะวนไปได้เรื่อย ๆ ตามนี้เลย การตัดเสียงของตัวหูฟัง ถ้า 10 คะแนนคือเงียบสนิท แบบไม่รู้ว่าโลกภายนอกเกิดอะไรขึ้น Freelace Pro ในโหมดตัดเสียงรบกวน อยู่ที่ 7-8 คะแนน นั่นคือยังพอเหลือให้รู้ว่า โลกภายนอกเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่เด่นชัดจนแย่งความสนใจ ถือว่าให้ความสงบ และปลอดภัยพอสำหรับการใช้งานนอกสถานที่ สำหรับโหมดเปิดเสียงรอบข้าง การทับซ้อนของเสียงใช้การได้ แต่ติดเพียงนิดเดียวคือ การผสมเสียงระหว่างสิ่งแวดล้อมกับเสียงหูฟังที่ใช้งาน ขาดความเป็นธรรมชาติไปนิด ถ้าปรับแต่งให้เสียงภายนอกกับเสียงหูฟัง กลมกล่อมกว่านี้สักหน่อย โหมดเปิดเสียงรอบข้าง จะเปิดใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยไม่รบกวนอรรถรสในการฟังเช่นกัน
ไมค์สนทนาของหูฟัง ถ้าใช้งานในที่เงียบ เช่นในบ้าน สำนักงาน หรือไม่มีความพลุกพล่านมาก ทำได้คมชัดดี แต่ด้วยข้อจำกัดทางรูปทรง ปลายสายจะสัมผัสได้ว่า เสียงพูดของผู้ใช้งาน อยู่ไกลกว่าความจริงไปเล็กน้อย ทำให้การใช้งานในที่พลุกพล่าน หรือมีเสียงรอบข้างดัง ต้องพูดให้ดังขึ้นสักหน่อย ฉะนั้นแล้ว ถ้าใช้คุยโทรศัพท์เป็นประจำด้วยแล้ว Freelace Pro อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าต้องใช้คุย ก็พอแก้ขัดได้อยู่

มาถึงเรื่องสำคัญสุดคือ “คุณภาพเสียง” สิ่งแรกที่คิดก่อนคือ หูฟังไร้สายแนวสายคล้องแบบนี้ มักทำเรื่องคุณภาพเสียงได้ถ้าไม่ดีไปเลย ก็ออกไปในแนวพอใช้ได้ แต่หาอะไรที่ดีกว่านี้ได้ สำหรับ Freelace Pro แล้ว ถ้าผมเอาประสบการณ์ของ Freebuds 3 มาเป็นตัวตั้งว่า Huawei ทำหูฟังไร้สายออกมาประมาณไหน ผมให้ความพอใจในภาพรวมที่ “น่าประทับใจ” เสียงกลางที่เป็นจุดขายที่ทุกหูฟังยุคใหม่ชอบยกมาเล่า ทำได้คมชัดอย่างที่ควรจะเป็น เสียงสูง เสียงต่ำ เบส ค่อนข้างแน่น เมื่อใช้ดูหนัง เล่นเกม ซึ่งเป็นสองกิจกรรมที่พึ่งเสียงสูง เสียงต่ำ เบส ค่อนข้างมาก Freelace Pro ก็รับมือได้ดี เมื่อรวมกับหูทรง In-Ear ทำให้การเปิดเสียงดัง ๆ ในการใช้งาน แทบไม่จำเป็นเลย เสียงสัก 30%-60% ของการขับเสียง ก็เพียงพอสำหรับการรับอรรถรสกับการใช้งาน ทั้งหมดนี้ ถือว่าไดร์เวอร์ 14mm ที่ให้มา ทำหน้าที่ได้ตามที่ควรจะเป็น
หาก Huawei แต่งเสียงให้ละเอียดกว่านี้ในทุกย่าน โดยเฉพาะเสียงกลางให้คมกว่านี้อีกนิด โดยไม่ต้องแต่งเสียงสูงหรือเสียงต่ำ ผมจะรู้สึกว่า นี่คือหูฟังประจำวันที่ใช่มากตัวหนึ่งเลย เพราะไม่ว่าจะใช้กับเครื่อง Huawei / Android / iOS ถึงคุณภาพเสียงที่ให้ได้ในแต่ละเครื่อง จะออกมาไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความเสถียร เที่ยงตรงต่อการรับ-ส่ง เสียง ไม่ว่าจะใช้กับอะไร ใช้กับเพลง วีดีโอ เกม หรือการโทรศัพท์ Bluetooth 5.0 เมื่อเชื่อมต่อกับเครื่องที่รองรับด้วยแล้ว ไม่ได้เจออาการกระตุก เสียงไม่สอดคล้องกับที่ควรจะเป็น รวมถึงตอบสนองในการสลับเครื่องระหว่างมือถือและ Tablet ของ Huawei ในรุ่นที่รองรับได้ค่อนข้างเนียนแบบไร้รอยต่อ
การใช้พลังงานและแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ของ Freelace Pro มีความจุ 150 mAh ชาร์จผ่าน USB-C หากหูฟังแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง ชาร์จเพียง 5 นาที ใช้งานได้ 5 ชั่วโมง และตามสเปคการใช้งาน สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมง (ไม่เปิดระบบตัดเสียง)
การชาร์จผ่าน USB-C จากมือถือเข้าหูฟัง ถ้าแบตฯ หมดเกลี้ยง จะใช้แบตเตอรี่จากมือถือประมาณ 20-30% ในการชาร์จแบตฯ หูฟังให้เต็ม ถ้าตีเป็นเวลา ก็ประมาณ 1 ชั่วโมงนิด ๆ หากใช้งานเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง โดยเปิดโหมดตัดเสียงสลับปิดโหมดตัดเสียงบ้าง ภาพรวมจะใช้งานได้ประมาณ 4 วัน แต่ถ้าจับชาร์จกับหัวปลั๊กในกล่องของมือถือ หรือกับ USB-C ของเครื่องคอมพิวเตอร์ แค่วันละ 10-20 นาที ก็ทำให้การใช้งานโดยรวมครบสัปดาห์แบบไม่ต้องลุ้นได้เช่นกัน
ข้อสังเกตหนึ่งที่อยากเล่าคือ ถ้าใช้ Freelace Pro ชาร์จกับหัวปลั๊กที่จ่ายไฟได้แรง ๆ เกิน 25W ขึ้นไป อาจเกิดอาการไฟไม่เข้าหูฟังเลย ฉะนั้น แนะนำว่า คอยชาร์จกับมือถือที่ใช้วันละ 10-20 นาที ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานโดยไม่เกิดเหตุแบตฯ หมดระหว่างวันได้แน่นอน
ภาพรวมแล้ว Freelace Pro ให้แบตเตอรี่ที่ถือว่าใช้ได้แบบเผลอลืมชาร์จได้ แต่ถ้าลืม ก็ใช้เวลาไม่นานเกินไปในการชาร์จกลับมาแก้ขัดก่อนเช่นกัน
สรุป “แต่งหูฟังให้ลงตัวกับการใช้งานจริงอีกนิด จะไม่ติอะไรเลย”

นานมาแล้วที่ผมไม่ได้ใช้หูฟังไร้สายอื่นที่ไม่ใช่ True Wireless หูฟังแนวสายคล้องคออย่างที่ Freelace Pro ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในใจของผม แต่ก็ไม่ปฎิเสธที่จะลอง ถ้าว่ากันในภาพรวมแล้ว ผมกลับถูกใจตัวนี้ที่สุด เมื่อเทียบกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ตระกูล Freebuds ด้วยซ้ำ ถ้าไม่นับเรื่องทรง ที่ถือว่าเฉพาะกลุ่มประมาณหนึ่ง งานออกแบบ สี การประกอบ การเชื่อมต่อ คุณภาพเสียงในกิจกรรมต่าง ๆ ระบบตัดเสียง ไปจนถึงระยะเวลาใช้งานพลังงาน พอมาเทียบกับราคาขาย ณ เวลานี้ (มีนาคม 2021) ที่หาได้แถว 2,990 บาท ในช็อปปิ้งออนไลน์ ถือเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับการเอามาใช้ร่วมกับ Smartphone ฝั่ง Android คือตัวเลือกที่น่าสนใจ เข้ากันได้ดี และถ้าใช้ Huawei อยู่แล้ว ยิ่งเข้ากันได้ดีมากกว่าด้วยซ้ำ
ถ้าผมอยากให้ Freelace Pro ดีกว่านี้ ผมจะขอให้ Huawei ทำประมาณ 4 ข้อนี้ ได้แก่
- แถมซองมาให้นะครับ ซองแถม ทำให้การใช้งานคล่องตัวขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกเวลาที่เราจะคล้องหูฟัง หรือจะเก็บหูฟังได้อย่างเป็นระเบียบโดยไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย ขอเถอะครับ ขอจริง ๆ
- ปรับแต่งความสามารถพื้นฐานทั้งหมด ให้ใช้งานได้กับ Android หรือ iOS โดยไม่จำเป็นต้องโหลด App มาปรับแต่ง จัดการ อย่างน้อยแล้ว ถือจะไม่สะดวกในแง่การเชื่อมต่อหรืออัพเดท แต่การที่หูฟังทำได้ครบ เสมือนหูฟังไร้สายตัวหนึ่งในตลาด น่าจะดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้มอง Huawei ให้เลือกมาเป็นหูฟังอีกเส้นนอกเหนือจาก True Wireless ตัวหลักที่ลูกค้ากลุ่มนี้ถือได้ไม่ยาก
- ปรับแต่งเสียงกลางให้แน่น ๆ หลายครั้งเสียงสูงกับต่ำ มันไปถึง แต่เนื้อเสียงเหมือนว่างหายไป ถ้าปรับแต่งเสียงกลางให้แน่น ๆ โดยไม่ต้องยุ่งกับฝั่งสูงและต่ำ เสียงที่ได้โดยรวม น่าจะดึงดูดให้คนที่อยากได้หูฟังแนวฟังสนุก เพราะในความรู้สึกแรกที่ฟัง ตัดสินใจเป็นตัวเลือกที่ใช่มากขึ้น
- ไมค์ฯ ของหูฟังมีสเปกที่ดี แต่ถ้าปรับแต่งให้รับเสียงได้ตรง ๆ มากขึ้น และแต่งให้แยกเสียงรบกวนได้ชัดเจนขึ้นกว่านี้ จะลงตัวกับการใช้คุยโทรศัพท์มากขึ้น

ท้ายสุดนี้ ผมเชื่อว่า Huawei กำลังรอข่าวดีที่จะทำให้ Android ของตัวเองที่แต่ง HMS Service กลับมาคล่องตัวในตลาดโลกด้วย Google Service อีกครั้ง สินค้าอื่นที่พอมีศักยภาพขายลูกค้าที่ไม่ได้ใช้ Android หรือ Huawei ทำมาโดยรวมดูไปในทางที่ผมรู้สึกว่า ถ้าปรับแต่งหรือทำเพื่อลูกค้าฐานนี้ให้มากขึ้น ไม่ว่าหูฟังหรือนาฬิกา เมื่อเทียบสิ่งทำได้กับราคา น่าจะช่วยภาพและรายได้ของ Huawei ณ เวลานี้ได้ไม่มากก็น้อย
ท้ายสุด ความไม่ดัง แต่ฟังดี ก็ทำให้บางวันหยิบมาฟังเพลง จิบกาแฟ มันก็สบายและมีความสุขไปอีกแบบ และทำให้ผมรู้ว่า Huawei น่าจะทำหูฟังไร้สายขายแล้วมีแววรุ่งได้อยู่ครับ :)