ลองแล้วเล่า

ลอง(นิดหน่อย)แล้วเล่า : Samsung QLED 2018 “เมื่อทุกอย่างมาถูกทาง เพิ่มเติมคือทำให้ใช่มากขึ้น”

ความเดิมตอนที่แล้ว : Samsung QLED “ก้าวต่อไปที่ “ใช่” ของ Samsung TV”

“โทรทัศน์” เครื่องใช้ไฟฟ้าคู่บ้านที่อยู่กันมาหลายยุคหลายสมัย จากจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่กลายเป็นจอที่มากกว่าแค่นั่งดูในทุกวันนี้ เทคโนโลยีหลายด้านที่นำมาเสริม บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ใช่

สำหรับ Samsung แล้ว โทรทัศน์ ถือเป็นสินค้าแจ้งเกิดให้ Samsung เป็นที่รู้จักทั้งโลกในหลายสิบปีที่ผ่านมา ในปีที่แล้ว QLED คือที่สุดจาก Samsung ด้วยทิศทางที่มองว่า OLED ยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สมบูรณ์ การพัฒนา LED ให้เต็มที่ ดูจะเป็นทางออกที่ใช่มากกว่า ซึ่งดูเหมือน Samsung จะคิดถูก เพราะปีนี้ QLED กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเติมเต็มบางอย่างให้สมบูรณ์ขึ้น

เอาจริง ๆ ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ใหม่อะไรหรอก จนพอฟังพรีเซ็นต์จบ ผมถึงรู้สึกว่า “อืม มันควรจะเป็นอย่างนั้นอะแหละ”

อย่างนั้นที่ว่า ได้แก่…

ลูกค้าอยากได้ “ความรู้สึก” มากกว่า “เทคโนโลยี”

ในปี 2017 ที่ผ่านมา Samsung เปิดรุ่นท็อปสุดของสินค้ากลุ่มโทรทัศน์ โดยใช้จอเป็น LED แต่ปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี Quantum Dot ที่เพิ่มเฉดสีในแต่ละ Pixel ให้กว้างขึ้น ขายงานออกแบบที่เน้นให้ดูเป็นของแต่งบ้านได้ สายเชื่อมต่อเส้นเดียว รีโมทที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ Samsung สามารถแจ้งเกิด QLED ในตลาดโทรทัศน์ระดับบนได้

ผ่านมาหนึ่งปี สิ่งที่ Samsung ปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยการถามลูกค้าไปว่า “อยากได้อะไรเพิ่ม” คำตอบที่ได้โดยรวมคืออยากให้โทรทัศน์เป็นของแต่งบ้านต่อให้ไม่ใช้งานก็อย่าเป็นแค่จอดำๆกับสายไฟที่ดูยุ่งน้อยกว่านี้

ในรุ่นปี 2018 สิ่งที่ Samsung ปรับปรุง คือการลดสายไฟจากรุ่นเดิม ที่ต้องมีสายไฟหลักหนึ่งเส้น สายข้อมูลหนึ่งเส้น รวมเป็นเส้นเดียว แล้วไปกระจายเชื่อมต่อที่กล่องรวม Port ทีหลัง ลดค่าทำบ้านหรือทำห้องเพื่อวางโทรทัศน์ แล้วต้องซ่อนสายไฟ ซึ่งค่าก่อสร้างเหล่านี้ รวมแล้วอาจแพงกว่าโทรทัศน์หนึ่งเครื่องด้วยซ้ำ
และเพื่อให้โทรทัศน์ดูเป็นของแต่งบ้านมากขึ้น จึงเพิ่มความสามารถ Magic Screen ให้โทรทัศน์สามารถแสดงภาพ หรือเล่นแค่เสียง ซึ่งสามารถใช้จากตัวเครื่อง หรือจากผู้ใช้งานถ่ายภาพ / เพลงส่วนตัวของผู้ใช้งาน สิ่งเล็กน้อยที่ปรับตรงนี้ ทำให้ QLED 2018 เป็นของประดับบ้านที่ดีมากขึ้นตัวอย่างง่ายๆถ้าเราถ่ายภาพผนังให้ได้แสงเงาที่ดีพอแล้วเอาภาพไปขึ้นจอโทรทัศน์ภาพที่แสดงจากโทรทัศน์กลมกลืนกับผนังจนดูเหมือนไม่มีโทรทัศน์ในห้องเลยก็ได้
ในส่วนเทคโนโลยี มีการนำ AI มาช่วยปรับปรุงเล็กน้อยในส่วนจอ ด้วยการทำให้จอลดแสงสะท้อน มุมมองดีขึ้น เนื่องจากจอภาพทุกรุ่น ความละเอียดคือ 4K ทำให้ AI มีส่วนปรับภาพจากการรับสัญญาณโทรทัศน์หรือชมภาพยนตร์ให้แสดงผลบนจอออกมาคมชัดมากขึ้น
และอย่างสุดท้ายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เพิ่ม คือการนำ IoT มาใช้จริงจังมากขึ้น โดย QLED 2018 นี้ รองรับกับ SmartThings ที่ Samsung วางฐานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในค่ายแล้ว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าไหนที่มี Chip ที่รองรับกับ SmartThings ทำให้การชมโทรทัศน์ สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นผ่านจอ รับทราบสถานะของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นผ่านจอนี้เช่นกัน หากทั้งบ้านใช้ เครื่องปรับอากาศ / เครื่องดูดฝุ่นแบบหุ่นยนต์ / เครื่องซักผ้า / ตู้เย็น ฯลฯ QLED 2018 ก็เปรียบเสมือนศูนย์กลางควบคุมทุกเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเช่นกัน

ราคาที่จับต้องง่ายขึ้น ไม่ดุเหมือนก่อน

ถ้าพูดถึง QLED สิ่งที่หลายคนกลัวหนักที่สุดคงเป็นเรื่องของ “ราคา” ที่แรงจนหลายคนต้องมองบนใส่ กับราคาเริ่มต้นที่ 99,990 บาท ที่หลายคนเห็นราคาแล้วเป็นต้องช็อคไปตาม ๆ กัน ปีนี้ Samsung เลยตัดสินใจเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าระดับกลาง ๆ เข้าถึง QLED ได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่ม Line-up ระดับ Affordable เข้ามา

ปีนี้ QLED นำเสนอในรูปแบบของ 4 รุ่นหลัก 2 ฟอร์มแฟคเตอร์ จับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับ Mid-tier ขึ้นไป ดังนี้

Q6F "น้องเล็กแต่ใจใหญ่"

Q6F รุ่นล่างสุดของ QLED รุ่นนี้ออกมาเพื่อจับตลาดคนอยากได้ QLED แต่งบไม่แรงพอโดยเฉพาะ ถึงแม้จะเป็นรุ่นล่างสุด แต่ฟังก์ชันอื่น ๆ ก็ทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นแสงสีที่อิ่มเต็มที่ด้วยมาตรฐาน HDR10 ดีไซน์ที่เข้ากับทุกสถานการณ์ ชิปประมวลผล Q Engine และระบบปฏิบัติการสุดล้ำพร้อมฟังก์ชัน SmartThings สำหรับควบคุมอุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน แม้จะไม่มีจุดเด่นของซีรีส์อย่าง One Invisible Connection ที่ช่วยซ่อนสายไฟและจัดระเบียบสายเชื่อมต่อ แต่ด้วยฟีเจอร์แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับบ้านที่อยากได้ประสบการณ์แบบ QLED แล้ว

Q6F มีให้เลือกในขนาด 55 นิ้ว และ 65 นิ้ว ที่ราคาเริ่มต้นเพียง 49,990 บาท

Q7F "ครบเครื่องในราคาเบาๆ"

Q7F รุ่นรองล่างของ QLED ปีนี้ ออกมาเพื่อจับตลาดลูกค้าที่อยากได้ฟีเจอร์ที่ดีกว่า Q6F เล็กน้อย กับฟังก์ชัน HDR Elite บนมาตรฐาน HDR10+ เวอร์ชันใหม่ล่าสุดที่ให้รายละเอียดภาพชัดเจนมากขึ้น สมจริงมากขึ้น และดูดีมากยิ่งขั้น แถมยังมาพร้อมกับ One Invisible Connection รูปแบบใหม่ ใช้หัวต่อเป็นแม่เหล็ก ติดตั้งง่าย และรวบสายจ่ายไฟเข้ามาในตัว ทำให้ซ่อนสายไฟได้ดียิ่งขึ้นไปอีก และยังมาพร้อมกับ Wall-mount รูปแบบใหม่ที่จะทำให้ทีวียิ่งชิดกับผนังมากยิ่งขึ้น เสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกหนึ่งชิ่นภายในบ้าน

Q7F มีให้เลือกในขนาด 55 นิ้ว ไปจนถึง 75 นิ้ว ที่ราคาเริ่มต้นเพียง 79,990 บาท

Q8C "ไม่ใช่ทีวี แต่เป็นงานศิลป์ชิ้นเอก"

Q8C รุ่นจอโค้งหนึ่งเดียวของ QLED มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ครบครันเหมือนกับ Q7F แต่อยากได้หน้าจอเป็นแบบโค้งเพื่อความสวยงาม มีให้เลือกสามขนาดได้แก่ 55 นิ้ว ไปจนถึง 75 นิ้ว ที่ราคาเริ่มต้น 99,990 บาท

Q9F "ที่สุด เพื่อคนรักความสมบูรณ์แบบ"

Q9F รุ่นเรือธงประจำปีนี้ ยังคงมาพร้อมกับจุดเด่นด้านภาพที่เหนือกว่าทุกคู่แข่งในตลาด ด้วยการวาง LED ในรูปแบบ Direct Full Arrays เต็มหน้าจอ ให้ความคมชัดของแสงเหนือกว่าใคร ให้ภาพที่สมจริงที่สุด ดีที่สุด เรียกว่ากวาดคะแนนรีวิวเรื่องภาพดีเด่นจากทุกสำนักอย่างลงตัว

Q9F มีให้เลือกในขนาด 65 นิ้ว​ และ 85 นิ้ว ที่ราคา 169,990 บาท และ 649,990 บาท

เช่นเคย สำหรับการรับประกัน QLED TV ทุกรุ่น Samsung ยังคงยึดนโยบายเดิม คือประกัน 3 ปีแบบ On-site Service สำหรับงานด้านฮาร์ดแวร์ และ Remote Service สำหรับซอฟต์แวร์และการปรับแต่งตัวเครื่อง พร้อมทั้งเพิ่มบริการ Q Butler Service บริการผู้ช่วยส่วนตัวตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน Samsung Call Center 02 689 3232 หรือ 1800-29-3232 ทีวีมีปัญหาเมื่อไหร่ กริ๊งเดียวมีพนักงานพร้อมให้บริการทันทีโดยไม่ต้องไปแย่งลูกค้าอื่น ๆ

ต่อไปจากนี้ ผมคงรอเวลาว่า เจ้าพ่อผู้ผลิต OLED ให้กับสินค้าหลายแบบ จะสามารถทำ OLED กับโทรทัศน์ได้เมื่อไหร่…แต่เอาเป็นว่า LED ของ Samsung ก็ทำมาสุดพอแน่นอนครับ : )

คณะแกดกวน #teamgadguan

ดลกุล เนตรรัตนากุล (zipboy)

ชื่อเต๋า อายุหลัก 3 ชอบของเล่นไฮเทคทั้งหลาย แต่ไม่ค่อยจะได้เล่น ต้องไปยืมชาวบ้านมาลอง เป็นกรรมกรประจำ #TeamGadGuan รักที่จะเขียน และรักคนอ่านครับ^^